“Smart Doi ดอยแม่แจ่มอัจฉริยะ” สร้างการพัฒนาด้วยดิจิทัล เพื่อเด็กบนดอยสูงที่เชียงใหม่

CMRU Faculty : วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย | Date and Time : 1/11/2564

    โครงการ “การพัฒนาแม่แจ่มดอยอัจฉริยะ” ด้วยระบบ Smart Energy-Agriculture Learning Module ด้านพลังงานทางเลือกทางการเกษตร ดิจิทัลขนาดเล็กต้นทุนต่ำ ในโรงเรียนขยายโอกาสและชุมชน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า Smart Doi ดอยแม่แจ่มอัจฉริยะ คืออีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จของการพัฒนาด้านการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตามกรอบนโยบายให้ทุนสนับสนุนด้าน Education Technology ที่มุ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

     จากผลการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ได้ทำให้โรงเรียนภายใต้โครงการฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ในพื้นที่ชุมชน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 8 แห่ง และโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 แห่งที่ ได้เกิดการพัฒนา สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียน ทั้งที่เป็นชาวไทยพื้นราบ และกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ได้เปิดโลกทัศน์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยพัฒนาสู่การสร้างอนาคตที่มั่งคง และยั่งยืน

     ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย (adliCET) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า Smart ดอยแม่แจ่มอัจฉริยะ เป็นโครงการที่เกิดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างคณะเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย ภายใต้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี ที่น้อมนำ

     พระบรมราโชบายด้านการศึกษามาปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนสำหรับการเกษตร เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ active learning ตามการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา (STEM Education)

     ในช่วงที่เริ่มวางแผนงานโครงการ ดร.วรจิตต์ ได้รับแจ้งจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฯ ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ได้ยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อขอรับการส่งเสริมสนับสนุนตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีกรอบให้การทุนในด้านที่เกี่ยวกับการศึกษาด้วย จึงนำโครงการฯ เข้ายื่นเสนอ โดยเน้นการนำเสนอให้สอดคล้องกับกรอบนโยบาย และขั้นตอนในการขอรับการสนับสนุน โดยให้มุมมองว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ยุ่งยาก ขอเพียงทำให้ถูกต้องตามหลักการ สร้างประโยชน์ต่อวงกว้างและยั่งยืน จะนำมาสู่การได้รับอนุมัติทุนในที่สุด

     “ ทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทางทีมงานวิจัยได้ใช้ในการพัฒนาชุดการเรียนรู้ตามแนวสะเต็มศึกษา ( STEM Education) ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนเพื่อการเกษตรแบบต้นทุนต่ำ ด้วยการใช้ 1 แผงเซลล์แสงอาทิตย์และเงิน 1 หมื่นบาทในการลงทุนระบบพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ในโครงการนี้ได้เน้นการดำเนินการร่วมกับการจัดการการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหาแบบ Play + Learn = Plearn ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้พลังงานทดแทนในภาคการเกษตรผ่านเกม Smart Doi” ดร.วรจิตต์ กล่าว

     สาเหตุที่ต้องที่เน้นให้เรียนรู้โดยผ่านเกมนั้น ดร.วรจิตต์ อธิบายว่า เพื่อสร้างความสนุกสนานดูดดึงความสนใจของนักเรียนผ่านเกม และการใช้เกมเข้ามามีส่วนร่วม ยังใช้เป็นตัวชี้วัดด้วย โดยนักเรียนที่ผ่านด่านในการเล่นเกมจะได้รับผลการเรียนที่บ่งบอกว่านักเรียนคนนั้นผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ ในหลักสูตรการศึกษา นอกจากนั้นการเล่นเกมยังเป็นการฝึกติดตั้งและประกอบระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ได้จากเกมไปปฏิบัติจริงในแปลงเกษตรของโรงเรียนได้ และโรงเรียนสามารถพัฒนาแปลงเกษตรให้เป็นแปลงเกษตรต้นแบบด้านการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนได้

     ด้วยชุดอุปกรณ์การเรียนรู้ และ Application ด้านพลังงานเพื่อการเกษตรแบบอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้น ได้ส่งผลให้นักเรียนและครูผู้สอนในโรงเรียนขยายโอกาสทั้ง 9 แห่ง ได้เข้าใจหลักการทำงานของเทคโนโลยี และสามารถประกอบชุดอุปกรณ์ต่าง ๆ จากพลังงานทดแทน เพื่อใช้ในงานการเกษตร จำนวน 10 เทคโนโลยี ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการน้ำ ความร้อนและการหมุนเวียนอากาศ แสงสว่าง และการจัดการเกษตรอัจฉริยะ โดยจัดทำเป็นชุดการเรียนรู้ อาทิ ชุดการเรียนรู้ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ชุดการเรียนรู้การเร่งการเจริญเติบโตของพืชในเวลากลางคืน ชุดการเรียนรู้เครื่องเติมอากาศกองปุ๋ยหมัก และชุดการเรียนรู้การควบคุมความชื้นในโรงเพาะเห็ด เป็นต้น


Sustainable Development Goals – SDGs :


CMRU Strategic Plan :
ยกระดับคุณภาพการศึกษา

CMRU Service Plan :
การศึกษา