CMRU Faculty : กองกลาง สำนักงานอธิการบดี | Date and Time : 29/09/2565
กฟผ. X ม.ราชภัฏเชียงใหม่ รุกต้นแบบ Smart University ผุดนวัตกรรมลดค่าใช้จ่ายพลังงาน คาดประหยัดกว่า 110 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ กฟผ. ลงนามสัญญาให้บริการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบรับประกันผลงาน ในพื้นที่โครงการ Smart Campus ของมหาวิทยาลัย โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงานของ กฟผ. มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ในรูปแบบ Win-Win Solution หวังเป็นต้นแบบขยายผลสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ และชุมชน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 110 ล้านบาท
ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กฟผ. และ มร.ชม. จึงตั้งใจที่จะร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัยสู่โครงการ “Smart Campus- Chiang Mai Rajabhat University” รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการใช้งานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ผ่านการใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ (Energy Management System: EMS) ซึ่งพัฒนาโดย กฟผ. ระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร ภายใต้ Application ที่ชื่อว่า ENZY Platform และระบบกักเก็บพลังงาน (ENGY Wall) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดค่าพลังงานไฟฟ้า
.
นอกจากนั้น ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบกักเก็บพลังงาน กับระบบเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญสูง ทำให้ระบบเก็บข้อมูลมีความมั่นคง สามารถลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปจากการขาดความต่อเนื่องของพลังงานไฟฟ้า และยังสามารถใช้พลังงานที่สะสมไว้บางส่วนในระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการพลังงาน และลดค่าพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่ง Platform ที่ กฟผ. จะเตรียมไว้ให้ในพื้นที่ Smart Campus นี้ พร้อมให้ มร.ชม. ได้ศึกษาและต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วย
สำหรับ Smart Campus ของ มร.ชม. ประกอบไปด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เวียงบัว และพื้นที่ศูนย์แม่ริม โดย กฟผ. มุ่งพัฒนา มร.ชม. ใช้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้พลังงานสะอาด มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1.43 MW ระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 250 kWh ระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์แบบ Normal Charge และแบบจ่ายพลังงานกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า (V2G) พร้อมทั้งดัดแปลงรถยนต์ขนส่งนักศึกษาที่ใช้น้ำมันในมหาวิทยาลัยให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงไฟถนนให้เป็น Smart Street Light เพื่อให้เกิดองค์รวมของ Smart Campus และสนับสนุนแผนนโยบาย Net Zero ของมหาวิทยาลัย โดยสัญญาฯ ฉบับนี้มีอายุสัญญา 15 ปี มีมูลค่าสัญญารวม 117 ล้านบาท หลังจากนั้น กฟผ. จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ครบกำหนด ทั้งนี้ มร.ชม. จะสามารถประหยัดพลังงานประมาณ 110 ล้านบาท
Sustainable Development Goals – SDGs :
CMRU Strategic Plan :
พัฒนาระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย
CMRU Service Plan :
บริหารจัดการเชิงบูรณาการ