ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ TICA ประเทศไทย และ The Queen Project Office (QPO) หน่วยงานคู่ร่วมมือฝ่ายราชอาณาจักรภูฏาน จัดการฝึกอบรมโครงการ OGOP ณ ราชอาณาจักรภูฏาน ขยายการพัฒนาท้องถิ่นไทยไปทั่วโลก

CMRU Faculty : คณะเทคโนโลยีการเกษตร | Date and Time : 30/9/2565

 

          คณะผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ บุญแรง, อาจารย์ ดร.ทิตา สุนทรวิภาต, อาจารย์ ดร.ภัทธนาวรรณ์ ฉันท์รัตนโยธิน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ ปัญโญใหญ่, คุณธัญวรรณ ศรีเดชะกุล, คุณปิลันธสุทธิ์ สุวรรณเลิศ คณะเทคโนโลยีการเกษตร อาจารจารย์วรพล วัฒนเหลืองอรุณ คณะวิทยาการจัดการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ณรัฐ จันทร์ศรี วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย เดินทางไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ ณ ราชอาณาจักรภูฏาน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ Haa, Tsirang, Wangdue Phodrang, Trongsa, Lhuntse, และ Trashi Yangtse ระหว่างวันที่ 17-27 กันยายน 2565 กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy, SEP) เพื่อให้เกิดการพัฒนาบนฐานแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน การฝึกปฏิบัติในชุมชน และขยายผลนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม

          โครงการตั้งเป้าหมายว่าจังหวัด Haa เน้นผลิตภัณฑ์จากน้ำนมโคและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัด Tsirang เน้นการแปรรูปกีวี น้ำผึ้ง และพริกดอง จังหวัด Wangdue Phodrang มุ่งผลิตภัณฑ์มันฝรั่ง และการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวเกษตร จังหวัด Trongsa เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากชา เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ จังหวัด Lhuntse เน้นการเพิ่มมูลค่าผ้าทอและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักและผลไม้จากป่า เช่น มะขามป้อม และจังหวัด Trashi Yangtse เน้นผลิตภัณฑ์จากน้ำพริก ผงขิง กระเทียมดำ เป็นต้น โดยภายในปี 2566 จะมีผลิตภัณฑ์จากชุมชนเข้าสู่ร้านค้า OGOP (One Gewog One Product) จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาราชอาณาจักรภูฏาน


Sustainable Development Goals – SDGs :


CMRU Strategic Plan :
สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

CMRU Service Plan :
การศึกษา การวิจัย